ประวัติ “ทางก้าวหน้า”
History of Path of progress
ในการจัดนิทรรศการ “ทางก้าวหน้า” ครั้งที่ 1 เริ่มต้นเมื่อ พ.ศ. 2525 และได้จัดต่อเนื่องทุก ๆ ปี มีการปรับปรุงและพัฒนารูปแบบตลอด เพื่อให้เข้ากับยุคสมัย จน ณ ปัจจุบันนี้ พ.ศ.2562 ได้เปลี่ยนจากการจัดนิทรรศการ มาเป็น การตอบปัญหาธรรมะ “ทางก้าวหน้า” ครั้งที่ 38
โครงการตอบปัญหาธรรมะ “ทางก้าวหน้า” แบ่งเป็น 4 ยุคสมัย
1. ยุคที่ 1 พ.ศ. 2525 – 2529 จากหลักร้อยเพิ่มเป็นหลักพัน ( 382 คน – 6,570 คน) ครั้งที่ 1 – 5
มีสนามสอบอยู่ที่จุฬาฯ จัดสอบ 2 รอบ และรับรางวัลที่ศาลาพระเกี้ยว จุฬาฯ
2. ยุคที่ 2 พ.ศ. 2530 – 2534 จากหลักพันสู่หลักหมื่น (4,778 คน – 13,726 คน) ครั้งที่ 6 – 10
ย้ายสนามสอบออกจากจุฬาฯ มาเป็นจัดสอบรอบคัดเลือกตามสนามสอบในต่างจังหวัด และโรงเรียนในกรุงเทพฯ จัดสอบรอบ 2 ที่วัดพระธรรมกาย และรับรางวัลที่ศาลาพระเกี้ยว
3. ยุคที่ 3 พ.ศ. 2535 – 2540 จากหลักหมื่นเป็นหลักแสน (15,436 คน – 69,575 คน)* ครั้งที่ 11 – 16
จัดสอบรอบเดียวที่สนามสอบในต่างจังหวัดและกรุงเทพฯ รับรางวัลที่วัดพระธรรมกาย
4. ยุคที่ 4 พ.ศ. 2541 – ปัจจุบัน เข้าสู่หลักล้าน (1,355,154 คน – 5,246,179 คน) ครั้งที่ 17 – ปัจจุบัน
การจัดสอบแบ่งเป็น 2 รอบ คือ รอบคัดเลือก จัดสอบในโรงเรียนของตนเอง และรอบจังหวัดและภาค จัดสอบ ณ ศูนย์สอบประจำจังหวัด ต่อมาภายหลังได้เพิ่มการสอบรอบที่ 3 คือ รอบชิงชนะเลิศระดับภาค จัดสอบ ณ วัดพระธรรมกาย
*หมายเหตุ : จำนวนนักเรียนที่สมัครกว่าหนึ่งแสนคน แต่เนื่องจากเกิดน้ำท่วมทั่วประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางภาคใต้มีฝนตกต่อเนื่อง นักเรียนจากทางภาคใต้จึงไม่ได้เข้าสอบเป็นจำนวนมาก
ลำดับเหตุการณ์สำคัญ
-TIME LINE-
นิทรรศการ “ทางก้าวหน้า” ครั้งที่ ๑
จัดขึ้น ณ ศาลาพระเกี้ยว จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในวันพุธที่ 10 ถึงวันอังคารที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2525 จัดโดยชมรมพุทธศาสตร์ 6 สถาบัน
นอกจากนิทรรศการที่มีผู้เข้าชมถึง 8,000 คนแล้ว ภายในงานยังมีการประกวดบทความ “หนทางสู่ความก้าวหน้าตามแนวพระพุทธศาสนา” การตอบปัญหาธรรมะและการประกวดเรื่องสั้น ประสบการณ์ในชีวิต เรื่อง “คบคนพาล พาลพาไปหาผิด คบบัณฑิต บัณฑิตพาไปหาผล” รวมถึงคอสฝึกสมาธิสำหรับนิสิต นักศึกษา ประชาชนอีกด้วย
นิทรรศการสัญจร
การจัดนิทรรศการ ทางก้าวหน้า ครั้งที่ 3 พ.ศ. 2527 เกิด “นิทรรศการสัญจร” เริ่มต้นด้วย “ทางก้าวหน้าภาคเหนือ” และนิทรรศการ “ทางก้าวหน้าภาคใต้” ในปี พ.ศ. 2529 ซึ่งได้มีกิจกรรมตักบาตรทุกเช้าระหว่าสัปดาห์ของงานนิทรรศการด้วย
เริ่มสอบระบบเดี่ยว
ระบบการจัดสอบตั้งแต่ครั้งที่ 1 ถึงครั้งที่ 4 เป็นการสอบแบบทีม ทีมละ 2 คน ส่วนในการสอบครั้งที่ 5 ได้เริ่มระบบสอบเดี่ยว มีนักเรียนสมัครสอบประมาณ 9,000 คน
ขยายตัวสู่ภูมิภาค
เนื่องด้วยมีผู้เข้าสอบเป็นจำนวนมาก จึงมีความจำเป็นต้องย้ายสนามสอบออกจากจุฬาฯ มาจัดสอบที่สนามสอบรอบคัดเลือกต่างจังหวัด(ได้แก่ เชียงใหม่, พิษณุโลก, ขอนแก่น, ร้อยเอ็ด, สงขลา และนครปฐม) และกรุงเทพฯ รวม 10 สนามสอบ โดยมีศูนย์ประสานงานอยู่ที่จุฬาฯ เมื่อสอบรอบคัดเลือกผ่านแล้ว จึงมาสอบรอบชิงชนะเลิศที่วัดพระธรรมกาย
สิ่งที่เกิดขึ้นในการจัดสอบครั้งที่ 6 พ.ศ.2530 คือ ซุปเปอร์ไวเซอร์ (Supervisor) เป็นครั้งแรก ซึ่งซุปเปอร์ไวเซอร์ คือนิสิต นักศึกษาที่ทำหน้าที่ประสานงานในสนามสอบต่าง ๆ
เริ่มต้นด้วยหลัก”ล้าน”
โครงการตอบปัญหาธรรมะ ครั้งที่ 17 พ.ศ. 2541 เป็นโครงการที่ได้รับการกล่าวขานกันมาก เนื่องจากเป็นปีแรกที่มีผู้เข้าร่วม โครงการ 1,355,154 คน จาก 4,106 สถาบันการศึกษาทั่วประเทศ
การจัดสอบให้กับเยาวชนกว่าล้านคน ทำโดยอาสาสมัครระดับอุดมศึกษาที่เรียกว่า ผู้ประสานงานจัดสอบ หรือ ซุปเปอร์ไวเซอร์ (Supervisors) กว่า 13,168 คน ที่ผ่านการอบรมแล้ว เป็นตัวแทนนำข้อสอบไปยังโรงเรียนที่เป็นสนามสอบทั่วประเทศ กว่า 2,824 สนามสอบ
การสอบครั้งที่ 32 พ.ศ. 2556 เป็นปีที่มีจำนวนผู้ร่วมโครงการมากที่สุด จำนวน 6,015,647 คน
การจัดสอบ แบ่งเป็น 2 รอบ คือ
1. สอบรอบคัดเลือก (จัดสอบในโรงเรียนตนเอง)
- ระดับอนุบาล1-3 และประถมศึกษา1-2
- ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่3-6 และระดับมัธยมศึกษาปีที่ 1-6, ปวช.หรือเทียบเท่า
2.สอบรอบจังหวัดและระดับภาค
- ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 3-6 และระดับมัธยมศึกษาปีที่ 1-6, ปวช.หรือเทียบเท่า
- ระดับครูอาจารย์
- ระดับนักเรียนทหาร-ตำรวจ
การสอบครั้งที่ 33 พ.ศ.2557
เริ่มมีการจัดสอบรอบชิงชนะเลิศ ระดับชาติ เป็นครั้งแรกที่วัดพระธรรมกาย
สอบรอบชิงชนะเลิศ ระดับชาติ ในวันเสาร์ที่ 13 ธันวาคม 2557
สถานที่ : ห้องแก้วสารพัดนึก สภาธรรมกายสากล วัดพระธรรมกาย
"ทางก้าวหน้า ความดีไม่มีที่สิ้นสุด"
– โครงการตอบปัญหาธรรมะ “ทางก้าวหน้า” –