วิธีปฏิบัติสมาธิ

สมาธิ แบบง่าย ๆ ทำตัวให้สบาย…ทำใจให้สงบ

ทำตัวให้สบาย

     นั่งขัดสมาธิ ขาขวาทับขาซ้าย มือขวาทับมือซ้าย วางไว้บนหน้าตักพอสบาย ๆ หรือนั่งในท่าที่สบาย ขยับร่างกาย ผ่อนคลายทุกส่วนให้สบาย หลับตาเบา ๆ  คล้ายตอนที่เราใกล้จะหลับ

ทำใจให้สงบ

     ทำใจให้ว่าง ๆ นิ่งเฉย ๆ ปล่อยวางในทุกสิ่ง ทำความรู้สึกเหมือนอยู่คนเดียวในโลกหรือสมมติตัวเราอยู่กลางอวกาศโล่ง ๆ ทำใจเราให้เบิกบาน แช่มชื่น ปราศจากความคิด ปลอดโปร่ง โล่ง เบา นำใจมาไว้ที่กลางท้องอย่างเบาสบาย รักษาอารมณ์สบายนี้ไปเรื่อย ๆ ด้วยใจที่เยือกเย็น ไม่เร่งร้อน เร่งรีบ

จุดศูนย์ถ่วง (Center of Gravity : CG)

     จุดที่เสมือนเป็นที่รวมของน้ำหนักของวัตถุ ปกติวัตถุของแข็งมีรูปร่างจะมีจุดศูนย์ถ่วง ถ้าเอาอะไรไปรองรับตรงจุดสมดุลนั้น สิ่งนั้นก็จะตั้งอยู่ได้

     จุดศูนย์ถ่วงของมนุษย์ จะอยู่ที่บริเวณกลางลำตัวระดับสะดือ หรือบริเวณกลางท้อง ถ้านำใจของเราไปวางไว้ตรงจุดนี้ ใจและร่างกายของเราจะสมดุลมั่นคง และมีพลัง

“สติกับสบาย”

ความสบาย เป็นหัวใจของการปฏิบัติธรรม

แต่ต้องมีสติ ควบคู่ไปกับความสบาย

มีสติ คือเอาใจมาอยู่กับตัวของเรา

มาหยุดมานิ่งภายในอย่างสบาย ๆ

“หยุด เป็นตัวสำเร็จ”

หยุด หมายถึง หยุดคิด 

“ไม่ว่าจะเห็น หรือไม่เห็นอะไร 

ให้ทำใจหยุดนิ่ง เฉย ๆ อย่างสบาย ๆ 

อย่าลุ้น เร่ง เพ่ง จ้อง”

“ปรับใจในชีวิตประจำวัน”

     ปรับความคิด คำพูด และการกระทำของเรา มองโลกตามความเป็นจริง ไม่ใส่ใจในเรื่องคน สัตว์ สิ่งของ มากเกินไป

     คิด พูด ทำแต่เรื่องที่ทำให้สบายใจ คิดและมองแต่สิ่งที่ดี (มองโลกในแง่ดี)

“สร้างความสุขในการนั่งสมาธิ”

ชอบธรรมชาติ

     นั่งในท่าที่สบาย ท่าใดก็ได้ ทำใจผ่อนคลาย เหมือนนั่งอยู่ท่ามกลางธรรมชาติ ที่อากาศเย็นสบาย หรือริมน้ำตกที่กำลังไหลเรื่อย ๆ เย็น ๆ ให้ความสดชื่น

ชอบฟังเพลง

     เลือกดนตรีบรรเลง ทำนองเบา ๆ หลับตาเบา ๆ ฟังเพลิน ๆ สบาย ๆ

นึกถึงความใส

     นึกถึงเพชรใส ๆ หรือก้อนน้ำแข็งใส ๆ หยดน้ำกลมใส ที่เกาะบนยอดหญ้า

อุปสรรคและวิธีแก้ไข

อุปสรรค

อาการ

วิธีการแก้ไข

ง่วง ปล่อยใจไม่ตั้งมั่น พักผ่อนน้อยหรือดื่มน้ำน้อย ดื่มน้ำหรือล้างหน้าให้สดชื่นแล้วเริ่มนั่งใหม่ หากง่วงมากก็ปล่อยให้หลับ
ปวดเมื่อย เมื่อย ชา เปลี่ยนท่านั่ง/เปลี่ยนอิริยาบถ อย่ากังวลเรื่องร่างกาย สนใจที่ใจหยุดใจนิ่ง
ฟุ้ง มีเรื่องต่าง ๆ เข้ามาในความคิด ปล่อยผ่านไป หรือค่อย ๆ ลืมตาหลับตาใหม่ หรือนึกนิมิต/ภาวนาอย่างสบายๆ ใจเย็น ๆ
ตึง ตึงหรือเกร็ง ตั้งใจมากเกินไป ปล่อยร่างกายผ่อนคลายให้สบาย ๆ

 

ง่วง ก็ปล่อยให้หลับ

 เมื่อย  ก็ขยับ 

 ฟุ้ง ก็ลืมตา”

 

ก่อนเลิกนั่งสมาธิ

     ให้นึกถึงความดีที่เราได้ทำมา แผ่เมตตา นึกความปรารถนาดีให้ทุก ๆ สรรพสัตว์ ขอให้ทุกชีวิตมีความสุข ปราศจากทุกข์ภัย

เมื่อเลิกนั่งสมาธิ

     ให้รักษาอารมณ์สบายที่ได้จากสมาธิให้ได้ทั้งวัน

สมาธิทำได้ทุกที่ ทุกเวลา

     ไม่ว่าจะเป็นที่บ้าน ที่โรงเรียน หรือที่วัด แม้กระทั่งอยู่บนรถ

คนที่ไม่สามารถฝึกสมาธิได้

     คนตาย มีแค่ร่างกายอย่างเดียว ไม่สามารถฝึกสมาธิได้

     คนบ้า เพราะขาดสติสัมปชัญญะ ไม่สามารถรับรู้เรื่องราวใด ๆ ได้

     คนที่ไม่ได้ทำ ไม่ทำย่อมไม่เกิดสมาธิ แก้ไขโดยการเอาใจใส่ ให้เวลากับการฝึกสมาธิ

สำเร็จได้ด้วยสมาธิ

จาก mgronline.com 4 เม.ย. พ.ศ. 2559

เมย์ รัชนก อินทนนท์ 

     เจ้าของแชมป์แบดมินตัน “อินเดีย โอเพน” เผยเคล็ดลับสภาพจิตใจนิ่ง นั่งสมาธิทุกคืน พร้อมล่าแชมป์ “มาเลเซีย โอเพน” ต่อ มองไกลถึงคว้าเหรียญโอลิมปิก 2016 ที่บราซิล 

โน้ส อุดม แต้พานิช

     “…ความสำเร็จในการทำเดี่ยวไมโครโฟน คือ สมาธิ ลำพังตัวผมเองไม่มีปัญญาจำอะไร ได้เยอะขนาดนั้นหรอก แต่ผมเคยบวชมาก่อน เวลาต้องการลำดับความคิด หรือคิดอะไรไม่ออก ผมจะนั่งสมาธิ นั่งแค่ช่วงสั้น ๆ ก็ช่วยได้…”

หมูป่าอะคาเดมี่

     “การฝึกสมาธิ ก็จะทำให้เกิดสติ และอดทนมากขึ้น การติดอยู่ในถ้ำหรือในเหตุการณ์วิกฤตต่าง ๆ จะเป็นภาวะช็อกตื่นตระหนก ฟุ้งซ่าน ว่าจะเกิดอันตราย เริ่มอยู่นานขึ้น ร่างกายอ่อนแอ การฝึกสมาธิ ก็จะทำให้เกิดสติและร่างกายอดทนมากขึ้น 

ส่วนที่ว่าควบคุมความหิวได้นั้น อาจเป็นเพราะร่างกายไม่ได้ขยับมาก ไม่ได้ใช้พลังงาน ร่วมกับมีความอดทนเพิ่มขึ้น” พญ.พรรณพิมลกล่าว

จาก mgronline.com  5 ก.ค. 61

The Science of Meditation, 2003

คนอเมริกันสิบล้านคน นั่งสมาธิอย่างสม่ำเสมอ…

TIME Magazine

พาดหัวไว้อย่างน่าทึ่ง ว่า …

“นักวิทยาศาสตร์” ก็ศึกษาวิจัย เรื่องสมาธิ…

“แพทย์” ก็เชียร์ ให้นั่งสมาธิ…

“ชาวอเมริกัน…นับสิบล้านคน” ก็นั่งสมาธิ… ทุกวัน 

ถามว่า… “นั่งกันไปทำไม?” ตอบว่า… “ก็มันดีน่ะสิ”

GOOGLE

Google

     เบื้องหลังความสำเร็จของ GOOGLE คือ การฝึกให้พนักงาน “เจริญสติ” บริษัทยักษ์ใหญ่ด้าน Technology อย่าง Google ที่ตอนแรกผมคิดว่าค่อนข้างห่างไกลกับเรื่องของสติ/สมาธิ กลับกลายเป็นว่าได้ใช้การเจริญสติให้เป็นประโยชน์ ในการสร้าง Innovation ออกมาอย่างต่อเนื่อง และมีอิทธิผลต่อโลกของเราอย่างมาก

“แหล่งกำเนิดของความสุขที่ว่านี้

มีอยู่แล้วภายในตัวของมนุษย์ทุก ๆ คน

และสามารถเข้าถึงได้ด้วยการนั่งสมาธิ