กิจกรรมสร้างสรรค์สังคม
เป็นกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน ฝึกความเป็นผู้นำในการทำความดี การทำงานเป็นทีม และสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับครอบครัว วัด และชุมชน โดยสอดแทรกเรื่องของศีลธรรม คุณธรรม จริยธรรม เข้าไปในการทำกิจกรรม กิจกรรมสร้างสรรค์สังคม เช่น จิตศรัทธาอาสาพัฒนาวัด ทอดกฐินสัมฤทธิ์ ถวายกระเช้ามหาทานบารมี เป็นต้น
1.จิตอาสาพัฒนาวัด
กิจกรรมปลูกฝังให้นักเรียนมีจิตศรัทธา อาสามาพัฒนาวัด ซึ่งกิจกรรมนี้ถือเป็นการทำบุญอย่างหนึ่งในบุญกิริยาวัตถุ 10 เรียกว่า “เวยยาวัจจมัย” หมายถึง บุญที่สำเร็จจากการขวนขวายบำเพ็ญประโยชน์ต่อผู้อื่น
อานิสงส์การทำความสะอาดวัด
พระนางโรหิณีเป็นน้องสาวของพระอนุรุทธะ ด้วยกรรมเก่าจึงทำให้เป็นโรคผิวหนัง เมื่อเหล่าพระญาติของพระอนุรุทธะทราบว่าพระอนุรุทธะมายังเมืองจึงพากันไปกราบ ยกเว้นพระนางโรหิณีเพราะความอายว่าเป็นโรคผิวหนัง พระอนุรุทธะจึงบอกให้พระนางมาหาและได้ตรัสแนะนำให้สร้างโรงฉัน กวาดพื้น ดูแลเสนาสนะให้สะอาด และตั้งน้ำดื่มไว้เป็นประจำ พระนางโรหิณีได้ปฏิบัติตามด้วยจิตที่เคารพเลื่อมใสจนหายจากโรคผิวหนังในกาลต่อมา
เมื่อพระนางโรหิณี ละจากโลกนี้ไป ได้ไปเกิดเป็นเทพธิดาที่มีรูปโฉมงดงามบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เนื่องด้วยอานิสงส์จากการปัดกวาด ดูแลเสนาสนะเป็นประจำ
2.ทอดกฐินสัมฤทธิ์
ทอดกฐินสัมฤทธิ์ คือ การน้อมนำผ้าจีวรมาวางทอดลง เพื่อถวายแด่ภิกษุสงฆ์ มิได้เจาะจงแก่ภิกษุรูปใด เทศกาลทอดกฐินจะเรียกอีกแบบ คือ ฤดูกาลเปลี่ยนผ้าใหม่ของพระภิกษุ
การทอดกฐินเป็นทานที่พิเศษที่ทำได้เพียงปีละครั้ง และต้องอยู่ภายในกำหนดเวลา 1 เดือนหลังจากวันออกพรรษาตามพุทธบัญญัติ คือ ตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 ถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 ทั้งนี้การทอดกฐินยังถือเป็นบุญใหญ่ที่ทั้งพระภิกษุและญาติโยมผู้ทอดกฐินได้อานิสงส์ด้วยกัน คือ ทั้งผู้ให้ (คฤหัสถ์) และผู้รับ (พระภิกษุสงฆ์) ต่างก็ได้บุญทั้ง 2 ฝ่าย
อานิสงส์การทำบุญทอดกฐิน
ในสมัยของพระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้า มีชายคนหนึ่งชื่อนายติณบาล เขามีฐานะยากจนมากแต่มีศรัทธาที่แรงกล้าอยากร่วมบุญกฐิน ถึงแม้เขาไม่มีทรัพย์สินเงินทองเลย แต่ก็ขวนขวายหาทางร่วมบุญ นายติณบาลได้ตัดสินใจเอาเสื้อผ้าที่มีอยู่เพียงชุดเดียวไปขายแล้วนำใบไม้มาเย็บเป็นผ้านุ่งแทน จากนั้นนำเงินจากการขายเสื้อผ้าไปซื้อด้ายและเข็มมาเป็นบริวารกฐินด้วยความปลื้มปีติเหลือประมาณ การกระทำของเขาทำให้พระอินทร์เกิดความเลื่อมใสอย่างยิ่งจนต้องเสด็จลงมาให้พรกับเขา และเมื่อพระราชาทรงทราบเรื่องนี้ก็ทรงพระราชทานทรัพย์ให้เขาเป็นจำนวนมาก เขาจึงกลายเป็นเศรษฐีทันตาเห็นด้วยบุญจากการทอดกฐินด้วยศรัทธาที่เต็มเปี่ยม เมื่อละจากโลกแล้ว นายติณบาลได้ไปเสวยทิพยสมบัติในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ภพชาติสุดท้ายได้ออกบวชในพระพุทธศาสนาและได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ด้วยอำนาจบุญที่เขาได้กระทำมาดีแล้ว
ฉะนั้นจึงกล่าวได้ว่า ผู้ที่ทำบุญทอดกฐินจะเป็นผู้มีชื่อเสียงฟุ้งขจรขจายไปทั่วสารทิศ ทั้งยังได้ชื่อว่าเป็นผู้สืบอายุพระพุทธศาสนาอีกด้วย
3.ถวายกระเช้ามหาทานบารมี
ถวายกระเช้ามหาทานบารมี คือ การถวายกระเช้าผลไม้แด่พระภิกษุ ถือเป็นการทำบุญอย่างหนึ่งในบุญกิริยาวัตถุ 10 เรียกว่า “ทานมัย” หมายถึง บุญสำเร็จจากการให้วัตถุเพื่อสงเคราะห์หรือบูชาแก่ผู้อื่น
อานิสงส์การถวายทาน
ในครั้งพุทธกาล มีพนักงานเฝ้าสวนผู้หนึ่งถวายงานให้กับพระเจ้าพิมพิสารอยู่ในพระราชอุทยาน วันหนึ่งขณะกำลังเดินทางนำมะม่วงไปถวายพระเจ้าพิมพิสาร ระหว่างทางเขาได้พบกับพระโมคคัลลานะกำลังเดินบิณฑบาตอยู่ จึงเกิดจิตศรัทธาอยากทำทานกับท่านมาก และคิดในใจว่า “มะม่วงเหล่านี้ เป็นมะม่วงที่เราดูแลอย่างสุดฝีมือ เราควรถวายเพื่อทำบุญกับพระคุณเจ้าก่อน เพราะท่านเป็นเนื้อนาบุญอันประเสริฐ แม้พระราชาจะสั่งทำโทษตนก็ยอม” เพราะคิดถึงผลบุญที่จะเกิดขึ้นกับตนทั้งในชาตินี้และชาติหน้าจึงถวายมะม่วงแด่พระโมคคัลลานะ จากนั้นเขาก็ไปกราบทูลกับพระเจ้าพิมพิสารถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ฝ่ายพระเจ้าพิมพิสารก็มิได้ลงโทษเขา ทั้งยังอนุโมทนาและพระราชทานรางวัลให้เขามากมาย และเมื่อเขาละจากโลกแล้ว ก็ได้ไปเกิดในสวรรค์ เป็นเทพบุตรผู้มีมหาสมบัติอันเป็นทิพย์และมีบริวารมากมาย
วันรวมพลังเด็กดี V-Star
ผู้นำพื้นฟูศีลธรรมโลก
ในวันงานเราจะได้ความรู้ด้านศีลธรรมควบคู่กับความสนุกจากกิจกรรมต่าง ๆ มากมาย ดังนี้
บรรพชาสามเณร
บวชสามเณรฝึกฝนตน ทดแทนพระคุณพ่อแม่
คำว่า “บวช” มาจากคำในภาษาบาลีว่า ปพฺพชฺชา แปลว่า ไปโดยสิ้นเชิง หรือ การเว้นโดย
สิ้นเชิง หมายถึง ไปจากการครองเรือนไปสู่ความเป็นบรรพชิต
การบวชสามเณรเป็นการสร้าง กุศลอันยิ่งใหญ่ให้ตนเองและบิดามารดา รวมทั้งหมู่ญาติ การมีโอกาสได้เป็นนักบวชผู้ตั้งใจฝึกฝนอบรมตนเอง แม้เพียงช่วงระยะเวลาสั้น ๆ ก็สามารถค้นหาแหล่งความสุขที่แท้จริง ศึกษาเรื่องราวความจริงของชีวิต เป้าหมายของการเกิดมาเป็นมนุษย์ ว่าเราเกิดมาทำไม ตายแล้วไปไหน บาปบุญคุณโทษ นรกสวรรค์ ภพนี้ภพหน้า และสังสารวัฏซึ่งเป็นความรู้ที่มีอยู่แต่ในพระพุทธศาสนา ผู้ที่มาบวชสามเณรต้องมีอายุตั้งแต่ 7 ปี ขึ้นไป
ผู้ใดได้บวชถือว่าเป็นผู้ที่มีบุญมาก เพราะต้องสั่งสมบุญมาข้ามภพข้ามชาติถึงจะได้มีโอกาสบวช เมื่อบารมีมากขึ้นก็มีโอกาสมาบวชในบวรพุทธศาสนาตั้งแต่ยังเยาว์วัย
ประโยชน์ที่ได้จากการบวช
- ได้ฝึกบริหารจัดการเวลา ใช้เวลาให้เกิดประโยชน์
- ได้ศึกษาหลักธรรม เพื่อนำไปใช้ควบคู่กับความรู้ทางโลก
- ได้ฝึกสมาธิทำจิตให้สงบซึ่งเป็นผลดีต่อการเรียน
- ฝึกความอดทน ไม่หวั่นไหวต่ออุปสรรคใด ๆ
- ทำให้รู้จักตนเอง เพื่อที่จะได้พัฒนาปรับปรุงตนเองให้ดียิ่งขึ้น
- ได้บวชสั่งสมบุญ ช่วยปิดอบายเปิดหนทางสวรรค์และพระนิพพาน
- ฝึกวินัยในการอยู่ร่วมกัน จะเป็นคนรักระเบียบวินัย
- ได้เรียนรู้ประสบการณ์ใหม่กับเพื่อน ๆ อย่างสนุกสนาน
- ตอบแทนพระคุณคุณพ่อคุณแม่ให้ท่านได้ใกล้ชิดพระพุทธศาสนามากขึ้น สามารถปิดอุบายเปิดหนทางสวรรค์ให้กับท่านได้
- ได้สืบต่ออายุพระพุทธศาสนา
ผู้สนับสนุนการบวช และผู้ชวนบวช
การทำหน้าที่กัลยาณมิตรชักชวนคนมาบวช ทำให้มีพวกพ้อง หมู่ญาติที่เป็นคนดี เป็นบัณฑิตนักปราชญ์ ทำให้เรามีพวกพ้องชักชวนกันสร้างความดี ทำให้มีความสะดวกในการทำความดี การเรียนและการทำงานของเรา
หากเราทำหน้าที่ชวนบวซหรือร่วมจัดงานบวช เราจะมีส่วนในบุญของผู้บวชทุกคน เช่น ถ้าบวช 500 คน ก็จะมีส่วนแห่งบุญของทั้งผู้บวช 500 คน บุญนี้จะทำให้เราได้รับความสะดวกสบายและได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดีในทุกที่ที่เราไป ผู้บวซและผู้สนับสนุนการบวชย่อมได้อานิสงส์ (ผลที่ได้จากการทำความดี) คือ เป็นผู้มีปัญญา มีสัมมาทิฏฐิ สมบูรณ์ด้วยโภคทรัพย์และอริยทรัพย์ ทั้งยังได้เกิดในดินแดนที่มีพระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองไปนับภพนับชาติไม่ถ้วน